แนะนำสูตร อาหารปลาหมอ และการเลี้ยงปลาหมอในบ่อดิน ง่าย ๆ

0
2146
อาหารปลาทับทิม

สำหรับวันนี้เราจะมา แนะนำสูตร อาหารปลาหมอ และการเลี้ยงปลาหมอในบ่อดิน ง่าย ๆ  โดยที่เราจะพาไปรู้จักกับการเลี้ยงปลาหมอในบ่อดินรวมถึงสูตรอาหาร และการให้อาหารที่เหมาะสมแก่ปลาหมอ เพื่อให้ปลาหมอมีการเจริญเติบโตที่ดีและสมบูรณ์เต็มวัย ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันได้เลย

อาหารปลาหมอ

ทำความรู้จัก ปลาหมอ

ปลาหมอ หรือ ปลาหมอไทย เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus ในวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae) มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง ตาโต ปากกว้าง ขอบฝาปิดเหงือกหยักแข็ง เกล็ดใหญ่คลุมทั้งลำตัว มีขอบเกล็ดแบบหยัก ผิวสาก เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหลังยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีก้านครีบแข็งแหลมคมจำนวนมากเช่นเดียวกับครีบก้น แต่ครีบก้นสั้นกว่า ครีบอกเล็กเป็นรูปไข่ ครีบหางปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกและมีลายประสีคล้ำที่ข้างลำตัว ครีบใส ลำตัวด้านท้องมีสีเหลือง ขอบฝาปิดเหงือกตอนบนมีแต้มสีคล้ำ มีอวัยวะช่วยหายใจเป็นแผ่นริ้วย่น ๆ อยู่ตอนบนของของช่องเหงือก จึงสามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรงโดยไม่ต้องรอให้ออกซิเจนละลายในน้ำ และสามารถอยู่บนบกหรือพื้นที่ขาดน้ำได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งในฤดูฝนบางครั้งจะพบปลาหมอแถกเหงือกไถลคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ ด้วยความสามารถนี้ ในภาษาอังกฤษจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า “climbing perch” หรือ “climbing gourami”

ปลาหมอเป็นปลาที่สามารถพบได้ในทุกแหล่งน้ำ กระจายอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบทุกภาค และเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยใช้เป็นอาหารมาช้านาน และมีความเชื่อว่าหากปล่อยปลาหมอจะทำให้ไม่เป็นโรคหรือหายจะโรคได้ ด้วยชื่อที่มีความหมายถึงหมอหรือแพทย์ผู้รักษาโรค และนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งในปลาที่มีสีกลายไปจากสีปกติ เช่น สีทองยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีราคาขายแพงอีกด้วย

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลี้ยงปลา

เมื่อมีการริเริ่มที่จะเลี้ยงปลานั้นแน่นอนว่าจะต้องทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยง การให้อาหารล่วงหน้าก่อนอย่างถี่ถ้วน เพราะปลาแต่สายพันธุ์นั้นมีรูปแบบการเลี้ยง และการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เกษตรได้เลี้ยงปลาอย่างถูกต้องและผลผลิตที่ดีเพื่อนำไปสร้างเป็นรายได้ให้แก่ตนเองก็ต้องทำการศึกษาอย่างแน่ชัด ใรนเรื่องของสภาพของแหล่งแม่น้ำ ค่าของน้ำแต่ละพื้นที่ว่าความบริสุทธิ์หรือไม่ หากมีแหล่งน้ำที่สะอาดก็สามารถเลี้ยงปลาได้ และอีกปัจจัยที่สำคัญคืออาหารที่จะต้องมีการเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับปลาแต่ละสายพันธุ์ อาจจะเป็นอาหารสำเร็จรูป หรือจะเป็นสูตรอาหารที่คิดเองและหาได้ตามท้องถิ่น

การเลี้ยงปลาหมอในบ่อดิน

1.การเตรียมบ่อดิน

ขนาดของบ่อที่ใช้ในการเลี้ยงปลาจะไม่ใหญ่มากนัก โดยมีพื้นที่ประมาณ 1-3 งาน หรือบางพื้นที่ก็นิยมเลี้ยงปลาในบ่อที่มีขนาด 3-4 ไร่ ความลึกประมาณ 1.5-2.0 เมตร บ่อเก่าทำการสูบน้ำให้แห้ง และกำจัดศัตรูปลาโดยเฉพาะปลากินเนื้อ วัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำออกให้หมด หว่านปูนขาวประมาณ 150-200 กิโลกรัมต่อไร่ ตากบ่อให้แห้งเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคและศัตรูปลา หากเป็นบ่อที่ก่อมาใหม่ควรหว่านปูนขาวปริมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่ แต่อย่างก้ตามปลาปมอไทยไม่ชอยน้ำที่เป็นด่างหรือมีมี pH สูง ซึ่ง pHของน้ำควรอยู่ในช่วง 6.5-8.5 และใช้อวนไนลอนสีฟ้ากั้นรอบบ่อให้สูงประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปลาหลบหนีสูบน้ำลงบ่อก่อนปล่อยลูกปลาประมาณ 60-100 เซนติเมตร กรองน้ำด้วยอวนมุ้งตาถี่หรืออาจฆ่าเชื้อในน้ำด้วยคลอรีนผง 3 ส่วน หรือ 3 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร และทำสีน้ำสร้างห่วงโซ่อาหารธรรมชาติจึงปล่อยลูกปลา หลังจากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเข้าบ่อเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ จนมีระดับน้ำ 1.5 เมตร และควบคุมระดับน้ำที่ระดับนี้ตลอดไป

2.อัตราปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง

โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร อัตราปล่อย 30-50 ตัวต่อตารางเมตร หรือ50,000-80,000 ตัวต่อไร่ หากใช้วิธีปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาให้ผสมพันธุ์วางไข่ อนุบาลและเลี้ยงในบ่อเดียวกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น โดยใช้อัตราพ่อแม่พันธุ์ปลา 40-60 คู่ต่อไร่ จะได้ลูกปลาขนาดใบมะขามประมาณ80,000-150,000 ตัว ต่อไร่ ทั้งนี้ความหนาแน่นในการเลี้ยงนี้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะการจัดการฟาร์ม และงบประมาณเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหากมีเป้าหมายต้องการปลาขนาดใหญ่ต้องปล่อยลูกปลาในความหนาแน่นต่ำลงมาประมาณ 20 ตัวต่อตารางเมตรหรือ 32,000 ตัวต่อไร่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยพันธุ์ลูกปลาคือ ช่วงเวลาเช้าหรือเย็นและควรปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงให้ใกล้เคียงกับน้ำในบ่อก่อน โดยนำถุงลูกปลาแช่น้ำในบ่อเป็นเวลาประมาณ 10-15 นาที เพื่อป้องกันลูกปลาช็อค แล้วเปิดปากถุงค่อยๆ เอาน้ำในบ่อใส่ถุงเพื่อให้ลูกปลาปรับตัวให้เข้ากับน้ำใหม่ได้

3.อาหารและการให้ อาหารปลาหมอ

นอกจากอาหารตามธรรมชาติแล้ว เกษตรกรมักนิยมให้อาหารสมทบจำพวกเศษอาหารจากครัวเรือน รำละเอียด ปลาสดสับ ปลวก และการใช้ไฟล่อแมลงกลางคืนตลอดจนอาหารสำเร็จรูปบางส่วน ส่วนการเลี้ยงปลาหมอแบบธุรกิจเชิงพาณิชย์นั้น เน้นการปล่อยเลี้ยงแบบหนาแน่นสูงมาก ปลาหมอนั้นเป็นปลากินเนื้อในช่วงแรกจากลูกปลาขนาดใบมะขามเป็นปลารุ่น (อายุ 1-2 เดือน) ต้องการอาหารที่เป็นโปรตีนสูงมากหลังจากนั้นเมื่ออายุ 2-3 เดือน ต้องการอาหารระดับโปรตีนต่ำ ซึ่งการให้ต้องเดินหว่านอาหารให้รอบบ่อเพื่อให้ปลาหมอทุกตัวได้กินอาหารอย่างทั่วถึง

สูตรอาหาร
สูตรที่ 1

สูตรอาหารนี้ได้มาจากคุณทองคำ ยศปัน เกษตกรผู้เพาะเลี้ยงปลาหมอในจังหวัดลำพูน โดยมีวิธีทำดังนี้

ส่วนผสม

1.รำละเอียด 2 กิโลกรัม

2.อาหารปลากินเนื้อชนิดเม็ดเล้ก 5 กิโลกรัม

3.น้ำเปล่า 1 แก้ว

วิธีทำ

1.นำรำละเอียดมาผสมกับอาหารปลากินเนื้อชนิดเม็ดเล็ก และคลุกเคล้าให้เข้ากัน

2.เมื่อคลุกเคล้าเข้ากันพอประมาณแล้วจึงนำน้ำเปล่ามาพรมลงไปเล้กน้อย และจะต้องไม่ให้อาหารเปียกเกินไป

3.เมื่อทำการผสมรำละเอียดกับอาหารปลาเม็ดแล้ว ให้นำไปผึ่งในที่ร่ม ให้แห้งพอประมารจึงสามารถนำไปให้ปลากินได้

ข้อแนะนำ ให้ปลาหมอกินวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ปลาจะโตเร็วและมีขนาดตัวที่โต น้ำหนักของปลาจะอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่อปลาหมอ 4-5 ตัว

สูตรที่ 2

สูตรอาหารจากคุณอุดม ขนุนก้อน เกษตรกรเลี้ยงปลา จังหวัดปทุมธานี ผู้ที่คิดค้นสูตรอาหารปลาหมอเพื่อการลดต้นทุนและยังช่วยให้ปลาหมอมีการเจริญเติบโตที่ดียิ่งขึ้น โดยการแปรรูปอาหารเอง ใช้ซี่โครงไก่ 30 กิโลกรัม ขนมปัง 10 กิโลกรัม รำละเอียด 5  กิโลกรัม เกลือแกง 5 กิโลกรัม ปลายข้าว 5 กิโลกรัม นำทุกอย่างมาบดรวมกันให้ปลากิน เดือนแรก ควรให้อาหารเม็ดตามปกติ เดือนที่ 2-4 ให้อาหารที่ผสมเอง และเดือนที่ 5 ให้อาหารเม็ดและอาหารบดสลับกันแต่ละวัน ซึ่งสูตรนี้คุณอุดมกล่าวว่าสามารถลดต้นทุนได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์

4.ระยะเวลาเลี้ยงและวิธีการจับปลาจำหน่าย

ระยะเวลาเลี้ยงขึ้นอยู่กับขนาดปลาที่ตลาดต้องการ สภาวะสิ่งแวดล้อมภายในบ่อและสุขภาพปลาทั่วไปใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 90-120 วัน การจำหน่ายผู้เลี้ยงกับแพปลา (พ่อค้าขายส่ง) มักตกลงราคาขายเหมาบ่อ โดยทอดแหสุ่มตัวอย่างปลาแล้วตีราคา ส่วนการจับปลานั้นจะต้องสูบน้ำออกจากบ่อให้เหลือน้อยแล้วจึงตีอวนล้อมจับปลา โดยลากอวนจากขอบบ่อด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งแล้วจึงยกอวนขึ้น ใช้สวิงจับปลาใส่กระชังพักปลาหรือตะกร้าเพื่อคัดขนาดบรรจุปลาในลังไม้ ใช้น้ำสะอาดฉีดพ่นทำความสะอาดตัวปลาซึ่งมักติดคราบโคลนและกลิ่นโคลนดินหลายๆ ครั้ง แล้วลำเลียงผลผลิตสู่ตลาดต่อไป

แหล่งที่มา : กรมประมง

บทสรุป

การเลี้ยงปลาหมอในบ่อดินนั้นไม่ได้ง่ายและก้ไม่ได้ยากเพียงแค่ต้องมีใจรักในการเลี้ยงปลา และการทำความเข้าใจถึงอุปนิสัยของปลาหมออย่างลึกซึ่งเพื่อการเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์ รวมถึงสูตรอาหารที่เกษตรกรส่วนใหญ่นั้นได้มีการคิดค้นขึ้นเองจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติซึ่งนอกจากจะทำให้ปลามีการเจริญเติบโตที่เร็ว สมบูรณ์แล้วยังช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนค่าอาหารได้ดีอีกด้วย วันนี้ฝากไว้เพียงเท่านี้ ไว้พบกันอีกครั้งในบทความหน้า

ดูบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ https://famertools.com/

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here